สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ข้อปฏิบัติก่อนทำสมาธิ

ข้อปฏิบัติก่อนทำสมาธิ

ข้อควรปฏิบัติก่อนปฏิบัติฝึกสมาธิ

ข้อความต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ท่าน ต้องจำและปฏิบัติในระหว่างการปฏิบัติเดินสู่ทางสงบ และจะชนะกิเลสเบื้องต้นด้วยความเพียร และความอดทน

1) ต้องนอนให้เพียงพอ คือร่างกายต้องได้รับการพักผ่อนพอสมควร แต่ไม่นอนมากเกินไป เมื่อตื่นแล้ว ไม่ควรนอนต่ออีกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรนอนกลางวัน เพราะการนอนมากจะทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอด ไม่มีเรี่ยวแรง

2) พยายามหาโอกาส อาบน้ำ หรือ เช็คตัวชำระร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสะอาด จะช่วยเสริมให้จิตใจสดชื่น

3) หาเครื่องแต่งตัวและสถานที่ที่เหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ควรหาเครื่องแต่งกายสีขาวที่ไม่คับแคบไว้ใส่ในระหว่างปฏิบัติจิต เพื่อให้หายใจสะดวก เลือดลมเดินหมุนเวียนได้คล่องและหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่การฝึกจิต คือเรียบง่าย เงียบ อากาศถ่ายเทสะดวก ร่มเย็นพอสมควร สองประการนี้ เป็นการช่วยสนับสนุน ให้จิตใจสะอาดสบายตา สงบได้สมาธิเร็ว

4) ข้อควรระวังเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร

4.1 หลังจากรับประทานอาหาร แล้วต้องรอให้ผ่านพ้นไปครึ่งชั่วโมง เป็นอย่างน้อยจึงจะนั่งสมาธิได้ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้ท่านเป็นโรคกระเพาะอาหาร เพราะหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เลือดจะนำธาตุไฟมารวมกลุ่มที่กระเพาะอาหาร มากขึ้นเพื่อย่อยอาหาร ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราเข้านั่งฝึกสมาธิ เลือดจะถูกดึงขึ้นเลี้ยงสมองมากขึ้นทันทีที่เราใช้ความคิด จึงทำให้ทั้งกระเพาะอาหารขาดธาตุไฟย่อยอาหาร จะทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยได้ไม่ดี จึงเป็นโรคกระเพาะได้ง่าย ขณะเดียวกัน สมองก็ขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง จึงเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน นั่งไม่ได้สติ จิตไม่สงบ

4.2 ควรที่จะมีเวลา รับประทาน อาหารที่แน่นอน และรับประทานอาหารพอสมควร บางท่านรับประทานอาหารเดี๋ยว 3 มื้อ เดี๋ยว 2 มื้อ เดี๋ยว 1 มื้อ จะเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ง่าย ควรที่จะรับประทานเป็นที่แน่นอนว่า จะรับประทานวันละกี่มื้อและควรจะต้องรับประทานให้ตรงตามเวลาทุกวันด้วย โดยเฉพาะสมณเพศแล้วป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารมาก อาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้

เพราะว่า " เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร อวัยวะภายในก็จะทำการส่งน้ำย่อย น้ำดี และกรดในกระเพาะอาหารก็จะรวมตัวกันเพื่อย่อยอาหาร ถ้าไม่มีอาหาร น้ำย่อยน้ำกรดเหล่านั้น ก็จะย่อยเนื้อหนังของกระเพาะอาหารและลำไส้ถึงขั้นทะลุได้

อนึ่ง ควรที่จะรับประทานอาหารพอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายโปร่งสบายเพราะถ้ามากไป ก็จะทำให้แนอึดอัด ง่วงนอน น้อยไปก็ทำให้หิวง่ายจิตใจฟุ้งซ่าน

4.3 สำหรับท่านที่มุ่งหวังโลกุตระควรที่จะงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท .. ควรงดเว้นอาหารรสจัดทั้งหลาย ที่จะกระตุ้นกามตัณหา จำพวกพริก ผักกุยช่าน และดอก (ไม้กวาด) กระเทียม หัวหอม และรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แต่ก็ควรจะรับประทานอาหารโปรตีนพวกถั่ว ถั่วเหลืองเพิ่มเติม ถ้าเป็นไปได้ ควรรับประทานอาหารมังสวิรัติก็จะดี

4.4 ควรงดเว้นสิ่งเสพติดและมึนเมา ตั้งแต่ยาเสพติดทั้งหลายจนเหล้า บุหรี่หมากพลู ยานัดถุ์ ตลอดจนชา กาแฟที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ขาดเสียมิได้เมื่อนึกอยากขึ้นมา เพราะจะทำให้เกิดความหงุดหงิดอารมณ์เสีย

5) ขอให้ท่านดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนเวลาปฏิบัติจิตและหลังออกจากสมาธิอีก 1 แก้ว เพื่อเสริมให้ร่างกายสดชื่น น้ำนั้นควรที่จะเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาดที่ไม่มีความเย็นด้วย เช่น ไม่ควรแช่เย็น หรือ ใส่น้ำแข็ง

6) รักษาความสนใจไว้ให้ดีด้วยการปฏิบัติจิตให้สม่ำเสมอทุกๆวัน และเป็นเวลาเดียวกันได้ยิ่งดี ต้องไม่มีการนัดกับใครทั้งก่อนและหลังเวลาที่จะฝึกปฏิบัติจิต เพราะจะทำให้เราเกิดความกังวล

7) ถ้าจิตรีบเร่ง " อยาก " ได้แล้วท่านจะไม่ได้ เพราะตัว “ อยาก “ คือกิเลสที่ทำให้ประสาทตื่นเต้นเครียด เป็นการบีบรัดให้ประสาท มึนชา ไม่ทำงานอย่างที่เราหวังได้

* ขอให้ท่านวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติ ด้วยการประคองความเพียรไม่ให้หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป เดินไปเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไปด้วยความอดทนไม่ท้อแท้

* ถ้านั่งแล้วรู้สึกเวียนหัว ด้วยสาเหตุใดก็ตาม มีอาการปวดเสียวหัวใจ หายใจเหนื่อย ปลายมือปลายเท้า เย็น ซีด มีเหงื่อเย็นๆ ซึมออกมานั้น คงจะมีเหตุจากการที่เลือดขึ้นไปหล่อเลี้ยงสมองน้อย อาจจะเป็นเหตุให้เป็นลมหมดสติได้

ท่านไม่ต้องตกใจ ขอให้ค่อยๆถอนออกจากการฝึกสมาธิแล้วนอนราบกับพื้นทำใจให้สบาย ปล่อยให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองสักครู่ นอนนานประมาณ 5 นาที ร่างกายก็จะหายเป็นปรกติ

8) วิธีการถอนออกจากการปฏิบัติจิตทุกครั้ง

ขอให้ค่อยๆ คลายออกจากสมาธิ ด้วยการหายใจตามปรกติช้าๆ 10 ครั้ง แล้วถอนหายใจลึกๆ ช้าๆ ตามแบบการฝึกลมปราณ สัก 10 ครั้ง ให้โล่งอก และตื่นจากภวังค์แล้วค่อยๆขยับร่างกายให้เคลื่อนไหวเล็กน้อย ถอนฝ่ามือที่ซ้อนกันอยู่นั้นออกแล้วมาวางบนหัวเข่า ลืมตาขึ้นเล็กน้อย มองลาดต่ำใกล้ตัวใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึง เบาๆ ช้าๆ ที่ตาสักครู่แล้วจึงลืมตาขึ้นเต็มที่ และถูฝ่ามืออีกครั้งจนร้อนแล้วนวดคลึงตั้งแต่ขมับ ท้ายทอยลงมาต้นคอ ไหล่ แขน หน้าอก หน้าท้อง เอว หลัง ต้นขา แล้วจึงค่อยๆยืดขาออกกระดิกปลายเท้าให้ยืดออกพักหนึ่งจนรู้สึกหายจากอาการชาแข็งกระด้าง

ปรับเช่นนี้ จนจิตใจและร่างกายคืนสู่สภาพปรกติ รับรู้สิ่งแวดล้อมเต็มที่แล้วจึงลุกขึ้นจากที่นั่ง แม้จะมีคนรีบด่วนมาเรียก ก็ขอให้ท่านใจเย็นๆ ค่อยๆ ขานรับ ค่อยๆ คลายออกจากสมาธิเพื่อให้พ้นจากการสะดุ้งหวาดกลัว อันเป็นเหตุให้สะเทือนกายทิพย์

เมื่อถอนออกจากการปฏิบัติสมาธิแล้ว ไม่ให้รีบถอดเสื้อผึ่งลมหรือรีบไปล้างหน้าอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหวัด เพราะขณะที่นั่งฝึกสมาธิจนจิตสงบธาตุทั้ง4 เสมออยู่นั้น ต่อมเหงื่อและรูขุมขนทั่วร่างกายจะเปิดกว้างกว่าปรกติเพื่อขับเหงื่อ เมื่อออกจากสมาธิแล้ว เช็คเหงื่อให้แห้งและรอจนกว่า ร่างกาย ปรับอุณหภูมิให้เสมอกับอากาศแวดล้อมก่อน จึงควรจะไปล้างหน้าอาบน้ำได้

9) เดินจงกรมหลังจากฝึกปฏิบัติสมาธิแล้วทุกครั้ง ขอให้ท่านเดินจงกรมอย่างน้อย 15 นาที เพื่อเป็นการบริหารร่างกายให้เลือดลมที่คั่ง ค้างตาม เอ็นตามข้อเดินสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งขาจะได้ไม่เสียสุขภาพด้วย

10) บูชาและน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อส่งเสริมเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติสมาธิเกิดความเลื่อมใสศรัทธาบารมีพระรัตนตรัยที่ภาวนาเป็นการสนับสนุนเสริมพื้นฐานของจิตไม่ให้หดหู่ เกิดความหนักแน่น กล้าหาญ เข้มแข็ง สงบ พร้อมที่จะเริ่มต้นฝึกปฏิบัติจิตต่อไป

 
view