สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ธรรมะ คืออะไร

ธรรมะ คืออะไร

ธรรมคืออะไร

คำว่า "ธรรมะ" นี้ โดยศัพทศาสตร์หรือนิรุกติศาสตร์ แปลว่า สิ่งซึ่งทรงตัวมันเองอยู่ได้ หรือโดยควาหมายก็ได้แก่ สิ่งทั้งปวงนั่นเอง ไม่มีอะไรที่ไม่ถูกเรียกว่า ธรรม ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลง หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ตาม สิ่งทั้งหลายประเภทที่เปลี่ยนแปลง ก็ทรงตัวมันอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง หรือโดยพฤตินัยก็ตัวความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง คือตัวมันเอง. ส่วนสิ่งทั้งหลายประเภทที่ไม่เปลี่ยน ก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความไม่เปลี่ยนแปลง หรือตัวความไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง เป็นตัวมันเอง. ทั้งสองประเภทนี้ ล้วนแต่ทรงตัวเองได้ จีงเรียกมันว่า "ธรรมะ" หรือ "ธัมม" แล้วแต่ว่าจะอยู่ในรูปภาษาบาลี สันสกฤต หรือภาษาไทย คำว่าธรรม โดยศัพทศาสตร์ ตรงกับคำไทยแท้ว่า "สิ่ง" เป็นสามัญญนาม หมายถึงได้ทุกสิ่ง และมีคุณลักษณะคือการทรงตัวมันเองตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หน้าที่อันเราจะต้องประพฤติต่อมัน ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เฉยๆ เสียก็แล้วกัน อย่าขันอาสาเข้าไปแบกไปทรงให้มันแทนตัวมันเลย. นี้คือคำว่า "ธรรม" โดยความหมายรวมและเป็นกลางที่สุด.

แต่คำว่า ธรรม นี้ ถูกนำไปใช้โดยขนาดและอย่างต่างๆ กัน มุ่งหมายต่างกัน เลยทำให้ฟั่นเฝือไปได้ ฉะนั้นในกรณีหลังนี้ ต้องพิจารณากันทีละอย่างเช่น :-

คำว่า "ธรรมะ" ที่มาในประโยคว่า "ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นไม่ไปทุคติ" นั้น, คำนี้หมายถึงศีลธรรมทั่วไป. หน้าที่ที่คนทั่วไปจะต้องประพฤติก็คือ ช่วยกันบังคับตนเองให้ประพฤติ. ศีลธรรมของคนทั้งหลายที่ไม่ประพฤตินั้น ไม่ใช่เพราะไม่รู้ เป็นเพราะทุกคนพากันเหยียบรู้ ขอจงช่วยกันอย่าเหยียบรู้ต่อไปอีกเลย.

คำว่า "ธรรมะ" ที่มาในประโยคว่า "บัณฑิตควรละธรรมที่ดำ ควรเจริญธรรมที่ขาว" นั้น. ธรรมคำนี้มีความหมายตรงกับคำว่า การกระทำ คือเราอาจพูดให้ชัดเจนเสียใหม่ว่า "บัณฑิตควรละการกระทำที่ดำ ควรเจริญการกระทำที่ขาว" ในกรณีที่คำว่า ธรรมะตรงกับคำว่า การกระทำ (Action) มีอรรถะเป็นกลางๆ เช่นนี้ เรามีหน้าที่ทำแต่สิ่งที่ดี.

คำว่า "ธรรม" ที่มาในประโยคว่า "เขายังห่างไกลจากธรรมนั้นอย่างกะฟ้ากับดิน แม้ว่าเขาจะฟังเทศน์ทุกวันพระ" นี้มีความหมายตรงกับสถานะหรือ State ชั้นหนึ่งๆ ตามแต่ท่านจะบัญญัติธรรมไว้เป็นชั้นๆ อย่างไร. เรามีหน้าที่ในเรื่องนี้ คือรีบเลื่อนชั้นให้ตัวเอง ให้สมกับเกียรติของตัว.

คำว่า "ธรรม" ที่มาในประโยคว่า "สังขารทั้งหลายมีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรม (อุปฺปาทวยธมฺมิโน)" ; คำนี้ตรงกับคำว่า ธรรมดา (Nature) หน้าที่ของเราคือบางอย่างควรเรียนและสังเกตอย่างเต็มที่ บางอย่างเอาแต่เพียงเอกเทศ.

ในประโยคว่า "พระพุทธเจ้าเกิดในโลกเพื่อประกาศสัจธรรม" เช่นคำว่า ธรรม หมายถึงกฏธรรมดา (Law of Nature) เช่นว่า ทุกข์ต้องเกิดมาจากสิ่งนั้น ความดับทุกข์มีได้เพราะสิ่งนั้น. หรือว่า สิ่งทั้งปวงต้องเป็นอย่างนั้นๆ เป็นต้น. หน้าที่ของเรา คือต้องทำตัวให้เข้ากันได้กับกฏนั้นบ้าง รู้จักนำเอากฏนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง. (คำว่าสัจธรรมในที่นี้ ใช้คำว่า ธัมม เฉยๆ แทนได้).

ในประโยคว่า "เสียทรัพย์เพื่อไถ่เอาอวัยวะไว้ เสียอวัยวะเพื่อไถ่เอาชีวิตไว้. ยอมเสียทั้งหมดนั้น เพื่อเอาธรรมไว้" เช่นนี้ คำว่า "ธรรมะ" หมายถึง "ความถูกต้อง" หรือ Righteousness หน้าที่ของเรา คือ เลือกเอาเองตามใจชอบในทางที่ถูกต้อง.

ในประโยคว่า "ตัดสินคดีไม่เป็นธรรมกล่าวหาไม่เป็นธรรม" เหล่านี้ คำว่า ธรรม หมายถึง ความยุติธรรม (Justice of Justness) หน้าที่ของเราคือ ระวังให้เป็นธรรม.

ในประโยคที่พระท่านสวดเมื่อสวดศพ ว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา "ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล, ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล, ธรรมทั้งหลายที่ท่านไม่บัญญัติว่า เป็นกุศลหรืออกุศล" เช่นนี้คำว่า ธรรม เป็นคำกลางๆ มีความหมายตรงกับคำว่า "สิ่ง" หน้าที่ของเราโดยทางปฏิบัติ ยังกล่าวไม่ได้ว่า คืออะไร เพราะยังไม่ได้ยุติว่าจะเอาความหมายกันตรงไหน. นี่เพื่อชี้ให้เห็นว่า คำว่า ธรรม ในภาษาบาลีนั้น กว้างขวางเพียงไร. คือถ้าไม่มีคุณนามประกอบแล้ว คำว่า ธรรมในที่เช่นนี้ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าคำว่า สิ่ง นั้นเลย. สิ่ง เท่ากับ Thing.

ในประโยคว่า "เมื่อธรรมทั้งปวงถูกเพิกถอนแล้ว วาทบถทั้งหลายก็พลอยถูกเพิกถอนตามไปด้วย" (สพฺเพสุ ธมฺเมสุ สมูหเตสุ สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ). คำว่า ธรรมในที่นี้ หมายถึงแต่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในวงของความยึดมั่นถือมั่นของสัตว์ ได้แก่คำว่า "สิ่ง" เหมือนกัน แต่กันเอามาเฉพาะประเภทที่เกี่ยวกับการยึดถือ ไม่ทั่วไปแก่สิ่งที่ไม่ยึดถือ แคบกว่าข้อข้างบนเล็กน้อย. ตัวอย่างในเรื่องนี้ เช่น เงิน ทอง ลูก เมีย ข้าวของ เป็ด ไก่ วัว ควาย ฯลฯ ถ้าใครถอนความยึดมั่นว่า เป็นสัตว์ เป็นคน ตัวตน เรา เขา ของเรา ของเขาเสียได้แล้ว เห็นเป็นสักว่า สังขารเสมอกัน ชื่อที่เรียกสิ่งเหล่านั้นก็พลอยไม่มีความหมายไปด้วยสำหรับผู้นั้น. นี้คำว่า ธรรมตรงกับ "สิ่งที่ถูกยึดถือ" คืออุปาทานักขันธ์ ที่มีความยึดถือ, หน้าที่ของเราในธรรมประเภทนี้ก็คือ คิดเพิกถอน อย่ายึดถือ จะได้สงบเย็น ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ไปกับธรรมเหล่านั้น.

ในประโยคว่า "ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น (เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหํ ตถาคโต)" คำว่าธรรมในที่นี้ได้แก่ "สิ่งซึ่งเป็นผล" ซึ่งมีเหตุปรุงแต่งขึ้น และกำลังบังคับให้เป็นไปตามอำนาจของเหตุ สิ่งซึ่งเป็นผล หรือ Phenomena เหล่านี้ เรามี หน้าที่จะต้องค้นหาเหตุของมันให้พบ แล้วจัดการกับเหตุนั้นๆ ตามที่ควรจะทำ. เช่นทุกข์เป็นผลของความทะยานอยาก เราจัดการสับบลิเมตหรือเปลี่ยนกำลังงานของความอยากนั้น เอามาใช้เป็นกำลังงานของความรู้สึกทางปัญญา ทำไปตามความรู้สึกที่ถูกที่ควร ไม่ทำตามอำนาจของความอยากนั้นๆ ทุกข์ก็น้อยลงและหมดไปในที่สุด.

view